วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บทที่ 2 หัวใจพระพุทธศาสนา

      ท่านพุทธทาสได้แต่งหนังสือชื่อว่า ชีวิตคืออะไร โดยท่านได้อธิบายถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ได้แก่กลไกการทำงานของขันธ์ทั้ง 5 ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ เห็นว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นอนัตตา แต่สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ คืออุปาทานขันธ์ ที่ทำให้คนเห็นว่าเป็นอัตตา เป็นตัวกู ของกู จึงเกิดทุกข์ เมื่อไม่มีตัวกู ของกู ก็ไม่มีทุกข์ ดังนั้น อุปาทานขันธ์ 5 หรือ ปัญจุปาทานขันธ์ จึงควรเป็นแก่น เป็นหัวใจของศาสนาพุทธ ใช่หรือไม่หัวใจของศาสนาพุทธอยู่ในอริยสัจ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีพระสมณะโคดม เป็นผู้ตรัสรู้ในหลักธรรม และแสดงธรรมเทศนา ให้ผู้คนเลื่อมใสศรัทธา เป็นผู้นำแนวทางดำเนินชีวิต ทางด้านจิตและ วิญญาณ ของผู้คนจำนวนมากนับหลายๆล้านคน เป็นพระพุทธเจ้า มานานนับพันปี จนกระทั่งทุกวันนี้ สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เมื่อ สองพันห้าร้อยกว่าปี และ มีผู้คนศรัทธาเลื่อมใสจนทุกวันนี้ กล่าวโดยรวมได้แก่ อริยสัจ 4 เป็นหลักของศาสนาพุทธ หากจะวิเคราะห์ว่าสิ่งใดเป็นหัวใจแล้ว จำเป็นต้องพิจารณาในรายละเอียด พิจารณาดูเนื้อใน ภายใน จากอริยสัจทั้งสี่ข้อ เป็นต้นไป
อริยสัจสี่ ซึ่งประกอบด้วยสัจธรรมเรื่องแรก คือ ทุกข์ พระพุทธเจ้าเห็นว่า ปัญหาพื้นฐานของโลกนี้คือ ทุกข์ การเกิดเป็นทุกข์ ต้องดิ้นรนหาปัจจัย เพื่อตอบสนองความต้องการทางกายทางใจ การแก่เป็นทุกข์ ไม่ว่าแก่ขึ้นหรือแก่ลง การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นทุกข์ ความกลัวตายเป็นทุกข์ ความคับแค้นใจคับข้องใจเป็นทุกข์ การได้การพบกับสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่รัก ไม่ต้องการ สิ่งที่เราเกลียดกลัวเป็นทุกข์ การพลัดพราก สูญเสียสิ่งที่รักที่ชอบ เป็นทุกข์ การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ สรุปแล้วทุกข์เป็นตัวปัญหา
สัจธรรมเรื่องที่สอง คือ สาเหตุของปัญหา หรือ เหตุแห่งทุกข์ เรียกว่า สมุทัย สาเหตุสำคัญได้แก่ อนิจจัง คือความไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายที่ประกอบด้วย ธาตุต่างๆมารวมกันย่อม ไม่เสถียร ต้องเสื่อมสลายหรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา กลไกของธรรมชาติสร้างให้คนเรา เพลิดเพลินในอารมณ์ จนเกิดอุปาทานยึดติดสิ่งต่างๆเหล่านั้น เป็น อัตตา เป็นตัวกูของกู เกิดกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดตัณหา ความทะยานอยาก จึงเป็นทุกข์ การแก้ปัญหาคือต้องแก้ที่สาเหตุต่างๆเหล่านี้
สัจธรรมเรื่องที่สาม คือ การกำหนดสภาวะที่เป็นเป้าหมายสูงสุดที่ต้องบรรลุ เพื่อพ้นจากปัญหาอันได้แก่ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่า นิโรธ หรือ สภาวะของการดับสิ้นความทุกข์โดยสิ้นเชิง ไม่เกิดทุกข์อีก
สัจธรรมเรื่องสุดท้าย คือ แนวทางปฏิบัติ เพื่อบรรลุเป้าหมาย การพ้นทุกข์ เรียกว่า มรรค ประกอบด้วย กิจกรรมที่ต้องปฏิบัติกาย ปฏิบัติใจทั้งสิ้น 8 กิจกรรมด้วยกัน เริ่มตั้งแต่การศึกษาหาความรู้ ความเข้าใจ จนเกิดความเห็นชอบ หรือ สัมมาทิฐิ ปฏิบัติเรื่อยไป จนถึงการเจริญสมาธิ วิปัสสนา ตามแนวทางที่ถูกต้องเป็นสัมมาสมาธิการพิจารณา อริยสัจ ทั้ง 4 เพื่อค้นหาสิ่งที่เป็นแก่น เป็นหัวใจของศาสนา หากลองแบ่ง สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เช่นแบ่งออกตามลักษณะการเกิดจำแนกเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ
ส่วนที่เกิดก่อนและส่วนที่เกิดในยุคพระพุทธเจ้า ส่วนที่เกิดก่อน ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย และ นิโรธ เป็นส่วนที่พระพุทธเจ้าได้ชี้นำให้เรา เห็นให้เราเข้าใจในธรรมชาติ เป็นธรรมะ เป็นความจริงของโลก เป็นสภาวะที่มีอยู่แล้วตามปกติ เรื่องเหล่านี้มีเกิดดับอยู่ใน ธรรมชาติมานานแล้ว ไม่ใช่ของใหม่ อริยสัจ
ส่วนหลัง คือ มรรค เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้คิดค้นขึ้นมา เป็นนวัตกรรมทางชีวิต จิต และ วิญญาณ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว และยังเป็นที่เลื่อมใส เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของชาวพุทธถึงทุกวันนี้ การบ่งบอกว่าผู้ใดเป็นชาวพุทธให้ดูจากวิถีปฏิบัติ ผู้คนอาจมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องโลก เรื่องทุกข์ เหมือนกัน แต่หากหาทางพ้นทุกข์ด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่ มรรคทั้ง 8 นั้น ไม่ใช่แนวทางของพระพุทธเจ้า ย่อมไม่ใช่พุทธ ตัวอย่างเช่น เรามีความทุกข์ เนื่องจากเงินทองไม่พอใช้ แต่เราหาทางดับทุกข์โดยการไปโกง ไปขโมยคนอื่นมา เช่นนี้ไม่ใช่วิถีของชาวพุทธ ดังนั้นอริยมรรคที่พระพุทธเจ้าได้ทำปฐมเทศนาในส่วนหนึ่งของ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือจุดเริ่มต้นของศาสนา คือศาสนาพุทธ คือแก่นแท้ เนื้อแท้ของศาสนา เป็นวิถีของชาวพุทธ ผู้ที่จะหาหัวใจของศาสนาจำเป็นต้องศึกษาจาก มรรคทั้ง 8 ข้อ เหล่านี้มรรคแปดคือ แก่นของศาสนาพุทธ
ดังที่กล่าวมาแล้ว มรรค 8 คือแก่นแท้ คือเนื้อแท้ของศาสนาพุทธ เปรียบเสมือนร่างกาย หัวใจของศาสนาจึงเปรียบเสมือน หัวใจของร่างกาย หากหัวใจหยุดทำงาน ร่างกายต้องหยุด ต้องตายภายใน 5 นาที หัวใจของศาสนาเป็นเช่นเดียวกัน หากศาสนาขาดสิ่งที่เป็นหัวใจ ศาสนาต้องหยุด ต้องดับสิ้นลงเช่นกัน เพื่อรักษาศาสนาให้เป็นไป จำเป็นต้องรู้ว่าสิ่งใดเป็นหัวใจ ต้องดูแลรักษา ต้องปฎิบัติให้ถูกให้ควร การค้นหาหัวใจของศาสนาต้องค้นหาภายในกาย หรือ ในมรรคทั้งแปดข้อนั่นเอง

มรรคข้อแรก คือ ความเห็นชอบ การพร้อมใจ ริเริ่มทำสิ่งใดต้องมีความเห็นด้วย และความชอบเป็นทุน สิ่งที่พึงระวังคือ ความเห็นชอบไม่ใช่ความเชื่อ ตามที่กล่าวไว้ใน กาลามสูตร ผู้สนใจ ต้องศึกษาให้รู้และหมั่นพิจารณาให้เข้าใจแท้ ว่าโลกนี้ ชีวิตนี้เป็นทุกข์ ทุกข์เกิดจากความไม่เที่ยง ของสังขารของธาตุทั้งหลายที่ไม่เสถียร ทุกข์เกิดจากอุปาทานขันธ์ ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตา ทุกข์เกิดจาก กิเลส ตัณหา ภายในกาย ภายในใจ แล้วกำหนดจิตให้ รู้สึกเกิดความเบื่อหน่ายในทุกข์และ รู้สึกต้องการ พ้นทุกข์ตามวิถีของชาวพุทธ เหล่านี้ คือความเห็นชอบ หรือ สัมมาทิฐิ
มรรคข้อที่สอง คือ การดำริชอบ เมื่อเกิดความเห็นชอบ ต้องการพ้นทุกข์ตามวิถีของพุทธแล้ว ต้องริเริ่มการกระทำอย่างง่ายๆก่อน ง่ายที่สุดคือการทำใจ เพื่อ ให้บริสุทธิ์ เพื่อให้ปราศจากซึ่งราคะ หรือ อยู่ในสภาวะของวิราคะ โดยพยายามระงับความครุ่นคิดหมกมุ่น ในเรื่องต่างๆ ซึ่งได้แก่เรื่องความพยาบาท หรือ ละพยาบาทวิตก โดยพยายามระงับความคิดพยาบาท ผู้ที่เคยทำร้าย ทำเวรทำกรรมกับเรา เลิกวิตกกับมัน ไม่มีประโยชน์ ไม่ได้อะไร ทุกข์ใจไปเปล่า ระงับความ ครุ่นคิดหมกมุ่นเรื่องกาม หรือ ละกามวิตก เรื่องกามนี้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเพศ แต่ที่แท้จริงแล้วประกอบด้วยหลายอย่าง เช่น รูปคือสิ่งที่เห็นที่สวยงาม น่าชื่นชมน่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ หรือธรรมชาติรอบตัว รสของอาหารที่ถูกปาก กลิ่นที่น่าสูดดมน่าชื่นใจ เสียงคน เสียงดนตรีหรือเสียงเพลงที่เราชอบ ตลอดจนการสัมผัสที่อบอุ่นหรือที่เร้าใจ เหล่านี้เป็นเรื่องของกามาทั้งสิ้น และ สุดท้ายคือเรื่องของ วิหิงสาวิตก คือการละความคิดหมกมุ่นที่จะทำร้าย เบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น อยากทรมาน อยากซาดิสท์ การดำริหรือริเริ่มในการละวิตกต่างๆเหล่านี้ หมายความว่าเรา คิดได้ แต่อย่าคิดหมกมุ่น ให้รีบตัดออกจากใจ ทันทีที่ได้รู้สึกตัว หากฝึกทำขั้นนี้ได้สมองจะปลอดโปร่ง จิตใจสงบ สบายขึ้น เป็นการควบคุมใจ โดยการควบคุมความคิดอย่างง่ายๆ คือ การดำริชอบ หรือ สัมมาสังกัปปะ

มรรคข้อที่สาม คือการเจรจาชอบ หรือ วาจาชอบ เป็นการฝึกควบคุม หรือฝึกบังคับใจ โดยวิธีการสำรวมคำพูด กำหนดว่าสิ่งใดควรหลีกเลี่ยงไม่ควรพูด อย่างแรกคือการไม่พูดโกหก อย่างที่สอง คือการไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเรื่องเลวเรื่องร้ายของผู้อื่น อย่างที่สาม การไม่พูดหยาบคาย และ เรื่องที่สี่คือการไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ ซึ่งสามเรื่องแรกคือ การพูดโกหก การพูดส่อเสียด และการพูดหยาบคาย คนเราพูดสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อหวังประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของตัวเอง ไม่ว่าเป็นประโยชน์ทางกายหรือทางใจ เป็นการเสริมสร้างกิเลส เสริมสร้างอัตตา ให้กับตน การระงับใจไม่ให้พูด เป็นการฝึกในการระงับ กิเลส ตัณหา ลด อัตตา ตัวกูของกู ลงได้ส่วนหนึ่ง ส่วนการไม่พูด เพ้อเจ้อ นั้นเป็นการควบคุมใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน ให้คิดแต่สิ่งที่เป็นธรรมะ เป็นประโยชน์ เหล่านี้คือ วาจาชอบ หรือ สัมมาวาจา
มรรคข้อที่สี่ คือ การกระทำชอบ หลังจากเรา ควบคุมความคิดความวิตก ควบคุมวาจาควบคุมคำพูดได้แล้ว ต้องเริ่มปฏิบัติจริงจัง คือเริ่มการกระทำที่เป็นรูปธรรม สิ่งแรกคือ การควบคุมทั้ง กาย วาจา และ ใจ ไปพร้อมกัน ได้แก่การถือศีล เริ่มตั้งแต่ศีล 5 ที่เป็น การถือศีลขั้นต้นของฆราวาส ได้แก่การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ที่ล้วนทำเพื่อสนองตัณหาสนองอัตตาของตน หรือ ตัวกู การไม่ลักขโมย ไม่หวังลาภที่ไม่ควรได้ ไม่ละโมภ ไม่ยึดติดกับสิ่งของ หรือ ของกู การไม่ประพฤติผิด หลงมัวเมาในกาม รูป รส กลื่น เสียง สัมผัส ซึ่งเป็นการระงับ กิเลส และ ตัณหาในระดับหนึ่ง การไม่พูดเท็จ พูดเสริมสร้างอัตตาตัวกู สุดท้ายคือ การละเว้นการดื่มของมึนเมา ซึ่งทำลายร่างกาย ทำลายประสาทสมอง ทำให้ ความคิด ปัญญา ตลอดจนสติสัมปชัญญะ บกพร่องพิการ นอกจากถือศีล 5 แล้วยังต้องถือศีลมากขึ้นไปเป็นศีล 8 ศีล 10 จนกระทั่งถึงวินัย ทั้ง 227 ข้อของพระสงฆ์ การถือศีลทั้งหลายจึงนับว่า เป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรมขั้นแรกในการปฏิบัติธรรม นอกจากการถือศีลแล้ว มรรคที่เหลืออีกทั้ง 4 ข้อ ต่อจากนี้ถือเป็นการกระทำชอบ หรือ สัมมากัมมันตะ ทั้งสิ้น