วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

บทที่ 10 ประเพณี ฮีตสิบสอง คองสิบสี่


ฮีตสิบสอง คองสิบสี่

ฮีตสิบสอง
                คำว่า “ฮีต” ตรงกับศัพท์บาลีว่า  จาริตตะ  สันสกฤตว่า จาริตตระ แปลงว่า ขนบธรรมเนียม  แบบแผน  ความประพฤติดีงาม หรือประเพณี  ฮีต มี 12 อย่างหรือประเพณีทำบุญสิบสองเดือน
 
               ปรัชญาทางสังคมจิตวิทยา คือ  เพื่อให้ชุมชนประกอบกิจกรรมสำคัญร่วมกัน ซึ่งนักปราชญ์ชาวอีสานโบราณได้บัญญัติไว้  เพื่อให้คนมีโอกาสพบปะถามสารทุกข์สุกดิบกัน เดือนละ  1 ครั้ง เรียกว่า ฮีตสิบสอง
                เพลง ฟ้อนฮีตสิบสอง   
                คำร้อง/ทำนอง อ.บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย
                ใช้ใน วิทยานิพนธ์ ชุดฝึกอบรมออนไลน์เพื่อเสริมสร้างค่านิยมรักท้องถิ่นและกิจกรรมนาฏศิลป์อาสา เรื่อง “ประเพณีฮีตสิบสอง” สำหรับนักเรียนประถมศึกษา
               โดยนางสาวรัตนาพร  แหม่งปัง ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
                คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

(กลอนขึ้น)   ล่ะฮีตสิบสอง โบราณเว้า  ชาวอีสานบ้านเฮา  ยังสืบทอด คงคุณ เอ้อ…เออ…เอ่อ..ค่า            
                ล่ะตั้งแต่ปู่สังกะสา ตั้งแต่ย่าสังกะสี เพิ่นพาถือแต่เก่าพุ้น บ่มีเสี้ยง แม่นลึปสูญ
                ประเพณีบ่ขาดดุ้น   เฮายังนับถือกัน  สิบสองเดือนบ่แปรผันฮีตสิบสอง
                เอ้อ…เอ่อ ..เออ    นอคองเค้า...
(ทำนองเพลงลูกทุ่งอีสาน)
 (ฮีต 1) พอถึง/เดือนอ้าย                สงฆ์ทั้งหลาย/พากัน/เข้ากรรม
จำศิล/ฟังธรรม                            บุญเข้ากรรม/มีมา/ฮีตนี้
ธรรมเนียม/เพิ่นถือ                       หากแม่นดื้อ/เข็ญข้อง/ต้องมี
ขอเทพ/เทวา/ปราณี                      บุญ/บารมี/ลูกหลานทำไป
(ฮีต 2)พอถึง/เดือนยี่                     ฤกษ์ยามดี/โฮมกัน/เดิ่นบ้าน
เฮ็ดบุญ/คูณลาน                           ข้าวเปลือกทาน/หนุนนำ/ชาติใหม่
ประเพณี/นี้                                 จัดสุปี/บุญกอง/ข้าวใหญ่
ฮ่วมกัน/ถวายให้                           แด่สงฆ์เจ้า/บุญหลาย/เอานี่
(ฮีต 3)พอเดือน/สามคล้อย              ลมวอย ๆ/เอาข้าว/มาปั้น
ชาวบ้าน/โฮมกัน                          ผูกสัมพันธ์/เฮ็ดบุญ/ข้าวจี่
จัดแจง/ถวาย                                สังฆเจ้า/ฮ่วมเฮ็ด/สุปี
หากธรรม/เนียมจั่งซี้                     มีจริงแท้/สืบมา/แต่ก่อน
(ฮีต 4)เดือนสี่/ฟังเทศ                    บุญผเวส/อดีต/เก่าหลัง
ผู้เฒ่า/นั่งฟัง                                เทศสังกาส/ผเวส/สันดร
ประดับ/ธงทิว                              ปลิวไสว/เทิ่งแห่/กัณฑ์หลอน
พร้อมแห่/ข้าวพัน/ก้อน                  ม่วนออนซอน/เทศแหล่/มัทรี

(ฮีต 5)เดือนห้า/เมือบ้าน                 นำเอาขัน/ใส่น้ำ/อบไว้
มาลา/ดอกไม้                              ถวายให้/สงฆ์เจ้า/ทุกปี
มหา/สงกรานต์                            ชาวอีสาน/เอิ้นบุญ/ประเพณี
ฮดน้ำ/กับน้องพี่                           สรงกรานต์ทุกปี/ขอพร/ผู้แก่
(ทำนองกาพย์เซิ้ง)
(ฮีต 6)โอเฮาโอ พวกฟ้อนเฮาโอ      ขอเหล้าขาว/ให้ได้จ้าว/จักโอ
ขอเหล้าโท/กินได้ฟ้อน/จักแก้ว        แม่นได้แล้ว/สิเซิ้งแห่/บั้งไฟ
บั้งไฟไผ๋/บ่ขึ้น/เทิ่งฟ้า                   ตกลงมา/จับโยน/ลงตม
บุญบ่สม/ฮอดพระยา/แถน              บั้งไฟแล่น/ไผ๋ขึ้น/เทิ่งฟ้า
บุญผลา/ฝนสิตก/หลายห่า              บวงสรวง/พระยาในบุญ/เดือนหก
โอเฮาโอ  โอพวกฟ้อนเฮาโอ
(ฮีต 7)พอเดือน/เจ็ดแล้ว                 ให้มีแนว/พาแปลง/บ่อนฮ้าง
ไฮ่นาผาท้าง                                ซ่อยฮ่วมสร้าง/เฮ็ดบุญ/ชำฮะ
(ฮีต 8)พอเดือน/แปดเถิง                  เข้าพรรษา/กิเลส/ลดละ
บวชเฮียน/อุตสาหะ                       ฟังธรรมมะ/เข้าวัด/จำศิล

(ฮีต 9)พอถึง/เดือนเก้า                   บ่ายเอาข้าว/มาห่อ/ล่อปั้น
วางนำ/ดินนั้น                             เอิ้นว่าบุญ/ข้าว/ประดับดิน
(ฮีต 10)เดือนสิบ/มาฮอด                บุญข้าวสาก/ทานภูต/ผีกิน
ซุมน้ำ/ตาไหลริน                           ทุกข์ยากสิ้น /คอยบุญ/ส่งหา

(ฮีต 11)เดือนสิบ/เอ็ดนี้                  บูฮานมี/เฮ็ด/ผาสาทเผิ้ง
สามเดือน/มาเถิง                          พระสงฆ์เจ้า/สิออก/พรรษา
(ฮีต 12)พอเดือน/สิบสอง               ฮ่วมฉลอง/กฐิน/ผ้าป่า
กลับคืน/บ้านนา                          หนุ่มสาวมา/เอาบุญ/นำกัน (ซ้ำ)
(ลำเต้ยธรรมดา)
ฮีตสิบสอง ของเฮานั้น                   บ่แปรผัน ยังคือแต่ก่อน
ถึงฮีตใด๋ กะได้ม่วน ได้ฟ้อน            ออนซอนแท้ ซื่นสุขสันต์
มื้อสำคัญ อีสานเฮาแล้ว                 มาเอาบุญประเพณียิ่งใหญ่
อยู่บ้านใด๋ ให้มาโฮม มาตุ้ม             เห็นหน้า เว้าไถ่ถาม
โอ้ยนั้นละน่า พ่อแม่หนา                ละนาลุงป้าหนา
อย่าปะอย่าลืมไล ฮีตสิบสอง            ประเพณีเฮาต้อง ฮักษาไว้ ฮักษาไว้
คองสิบสี่
                “คอง” ในคำอีสาน หมายถึง ครอง หรือครรลอง  หรือแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในการดำรงชีพทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม “คอง” มีอยู่ 14 อย่างจึงเรียก  “คองสิบสี่”                                                                  
                ในหนังสือประเพณีโบราณไทยอีสานของอาจารย์ ปรีชา พิณทอง ได้กล่าวไว้ว่า คองสิบสี่ มีอยู่ 14 อย่างคือ (ใช้สำหรับเลือกอุปฮาตตราชมนตรีปกครองเมือง)
                1.ทรงแต่งตั้งผู้ซื่อสัตย์สุจริตเป็นอุปฮาตราชมนตรี
                2. ทรงหมั่นประชุมอุปฮาตราชมนตรี
                3. ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม
                4.ให้ทำบุญขึ้นปีใหม่  นิมนต์ภิกษุสงฆ์มาเจริญพุทธมนต์
                5. ให้ฮดสรงเจ้ามหาชีวิตในวันขึ้นปีใหม่
                6.ให้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาบาน
                7. ให้เลี้ยงมเหศักดิ์หลักเมือง
                8. ให้ทำบุญซำฮะบ๋าเบิก
                9.ให้ทำบุญข้าวประดับดิน
                10.ให้ทำบุญข้าวสาก
                11.ให้ทำบุญออกพรรษา
                12.ให้ทำบุญกฐิน
                13.ให้มีการส่วงเฮือ และแห่เจ้ามหาชีวิต
                14 .ให้มีสมบัติคูณเมือง 14 อย่างคือ
                                หูเมือง                   ได้แก่  ทูตานุทูต
                                ตาเมือง                  ได้แก่ นักปราชญ์สอนธรรม
                                แก่นเมือง              ได้แก่  สงฆ์ผู้แตกฉานในธรรมวินัย
                                ประตูเมือง            ได้แก่ อาวุธยุทโธปกรณ์
                                ฮากเมือง               ได้แก่ โหราจารย์
                                เง่าเมือง                ได้แก่ สุจริตามาตร์
                                ขื่อเมือง                 ได้แก่ ตากวน ตาแสงผู้ซื่อสัตย์
                                ฝาเมือง                  ได้แก่ โยธาทหารผู้แกล้วกล้า
                                แปเมือง                 ได้แก่ เจ้านายผู้ตั้งอยู่ในศิลธรรม
                                เขตเมือง                ได้แก่ คหบดีเศรษฐี และทวยค้า
                                ใจเมือง                  ได้แก่ แพทย์
                                ค่าเมือง                  ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ
                                เมฆเมือง               ได้แก่ เทวดาอาฮักหลักเมือง
                ส่วนในฉบับของท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตร วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งได้มาจากหนังสือใบลาน ได้กล่าวไว้ แตกต่างกันไปมากคือ คองสิบสี่ ตามแบบหลังได้จำแนกไว้ดังนี้ (ใช้สำหรับบุคคลทั่วไป)
                1. ฮีตเจ้าคองขุน
                2. ฮีตท้านคองเพีย
                3. ฮีตไพร่คองนาย
                4. ฮีตบ้านคองเมือง
                5. ฮีตปู่คองย่า
                6. ฮีตพ่อคองแม่
                7. ฮีตป้าคองลุง
                8. ฮีตปู่คองหลาน
                9. ฮีตใภ้คองเขย
                10. ฮีตลูกคองหลาน
                11. ฮีตเฒ่าคองแก่
                12. ฮีตปีคองเดือน
                13. ฮีตไฮ่คองนา
                14. ฮีตวัดคองสงฆ์

 เฮือน 3 น้ำ 4 (คุณสมบัติของผู้หญิง)                                                                                                                    
น่าจะหมายถึง  คุณสมบัติผู้หญิงที่ควรปฏิบัติ และควรมี                                                                         
เฮือน 3 ได้แก่ เรือนผม  เรือนไฟ  และเรือนนอน
                น้ำสี่ ได้แก่ น้ำกิน  น้ำใช้  น้ำเต้าปูน และน้ำใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น