วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

บทที่ 13 ภูมิปัญญาชาวบ้าน

ฎุมิปัญญาชาวบ้าน 

         คำว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความรู้ของชาวบ้าน ซึ่งได้มาจากประสบการณ์ และความ เฉลียวฉลาดของชาวบ้าน รวมทั้งความรู้ที่สั่งสม มาแต่บรรพบุรุษ สืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คน  อีกรุ่นหนึ่ง ระหว่างการสืบทอดมีการปรับ ประยุกต์ และเปลี่ยนแปลง จนอาจเกิดเป็นความรู้ใหม่ตาม  สภาพการณ์ทางสังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
         ภูมิปัญญาเป็นความรู้ที่ประกอบไปด้วยคุณ ธรรม ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน ในวิถีดั้งเดิมนั้น ชีวิตของชาวบ้านไม่ได้แบ่งแยกเป็นส่วน ๆ หากแต่ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กัน การทำมาหากิน การอยู่ร่วมกันในชุมชน การ  ปฏิบัติศาสนา พิธีกรรมและประเพณี
          ความรู้เป็นคุณธรรม เมื่อผู้คนใช้ความรู้นั้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง คนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
         ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นความสัมพันธ์ที่มีความ สมดุล ที่เคารพกันและกัน ไม่ทำร้ายทำลายกัน ทำให้ทุกฝ่ายทุกส่วนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ชุมชนดั้งเดิมจึงมีกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกัน มีคน เฒ่าคนแก่ เป็นผู้นำ คอยให้คำแนะนำตักเตือน   แก่
 ตัดสิน และลงโทษหากมีการละเมิด ชาวบ้าน เคารพธรรมชาติรอบตัว ดิน น้ำ ป่า เขา ข้าวแดด ลม ฝน โลก และจักรวาล ชาวบ้านเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ทั้งที่มีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว
          ภูมิปัญญาจึงเป็นความรู้ที่มีคุณธรรม เป็นความรู้ที่มีเอกภาพของทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นความรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างสัมพันธ์กันอย่างมีความสมดุลเราจึงยกย่องความรู้ขั้นสูงส่งอันเป็นความรู้แจ้งในความจริงแห่งชีวิตนี้ว่า "ภูมิปัญญา"


พิธีสู่ขวัญควาย



หัวข้อ
ความคิดและการแสดงออก

          เพื่อจะเข้าใจภูมิปัญญาชาวบ้าน จำเป็น ต้องเข้าใจความคิดของชาวบ้านเกี่ยวกับโลก  หรือที่เรียกว่า โลกทัศน์ และเกี่ยวกับชีวิต หรือที่เรียกว่า ชีวทัศน์ สิ่งเหล่านี้เป็นนามธรรมอันเกี่ยวข้องสัมพันธ์โดยตรงกับการแสดงออกใน
 ลักษณะต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม
          แนวคิดเรื่องความสมดุลของชีวิต เป็นแนวคิด พื้นฐานของภูมิปัญญาชาวบ้าน การแพทย์แผนไทยหรือที่เคยเรียกกันว่า การแพทย์แผนโบราณ นั้น มีหลักการว่า คนมีสุขภาพดีเมื่อร่างกายมีความสมดุลระหว่างธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ  คนเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะธาตุขาดความสมดุล จะ มีการปรับธาตุ โดยใช้ยาสมุนไพรหรือวิธีการ อื่น ๆ คนเป็นไข้ตัวร้อน หมอยาพื้นบ้านจะให้ยาเย็นเพื่อลดไข้ เป็นต้น
          การดำเนินชีวิตประจำวันก็เช่นเดียวกัน ชาวบ้านเชื่อว่าจะต้องรักษาความสมดุลในความสัมพันธ์สามด้าน คือ           ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านในชุมชน ความสัมพันธ์ที่ดี มี หลักเกณฑ์ที่บรรพบุรุษได้สั่งสอนมา เช่น ลูก ควรปฏิบัติอย่างไรกับพ่อแม่ กับญาติพี่น้อง กับ ผู้สูงอายุ คนเฒ่าคนแก่ กับเพื่อนบ้าน พ่อแม่ ควรเลี้ยงดูลูกอย่างไร ความเอื้ออาทรต่อกันและ กัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะในยามทุกข์ยากหรือมีปัญหา ใครมีความสามารถพิเศษก็ใช้ ความสามารถนั้นช่วยเหลือผู้อื่น เช่น บางคน เป็นหมอยา ก็ช่วยดูแลรักษาคนเจ็บป่วยไม่สบายโดยไม่คิดค่ารักษา มีแต่เพียงการยกครู หรือ การรำลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ประสาทวิชามาให้ เท่านั้น หมอยาต้องทำมาหากินโดยการทำนาทำ ไร่ เลี้ยงสัตว์เหมือนกับชาวบ้านอื่น ๆ บางคนมี ความสามารถพิเศษด้านการทำมาหากิน ก็ช่วย  สอนลูกหลานให้มีวิชาไปด้วย
          ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนในครอบครัวในชุมชน มีกฎเกณฑ์เป็นข้อปฏิบัติและข้อห้าม อย่างชัดเจน มีการแสดงออกทางประเพณี พิธีกรรม และกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การบายศรีสู่ขวัญ เป็นต้น
          ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ผู้คนสมัยก่อน พึ่งพาอาศัยธรรมชาติแทบทุกด้าน ตั้งแต่อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่พัฒนาก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ ยังไม่มีระบบการค้าแบบสมัยใหม่
ไม่มีตลาด คนไปจับปลาล่าสัตว์ เพื่อเป็น อาหารไปวัน ๆ ตัดไม้เพื่อสร้างบ้านและใช้สอยตามความจำเป็นเท่านั้น ไม่ได้ทำเพื่อการค้า ชาวบ้านมีหลักเกณฑ์ในการใช้สิ่งของในธรรมชาติ ไม่ตัดไม้อ่อน ทำให้ต้นไม้ในป่าขึ้นแทนต้นที่ ถูกตัดไปได้ตลอดเวลา
          ชาวบ้านยังไม่รู้จักสารเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ฆ่าหญ้า ฆ่าสัตว์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้สิ่งของในธรรมชาติให้เกื้อกูลกัน ใช้มูลสัตว์ ใบไม้ใบ หญ้าที่เน่าเปื่อยเป็นปุ๋ย ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ น้ำสะอาดและไม่เหือดแห้ง
          ชาวบ้านเคารพธรรมชาติ เชื่อว่ามีเทพมีเจ้า  สถิตอยู่ในดิน น้ำ ป่า เขา สถานที่ทุกแห่ง จะทำอะไรต้องขออนุญาตและทำด้วยความเคารพ และพอดีพองาม ชาวบ้านรู้คุณธรรมชาติ ที่ได้ ให้ชีวิตแก่ตน พิธีกรรมต่าง ๆ ล้วนแสดงออกถึง แนวคิดดังกล่าว เช่น งานบุญพิธีที่เกี่ยวกับ น้ำ ข้าว ป่าเขา รวมถึงสัตว์ บ้านเรือน เครื่องใช้ต่าง ๆ มีพิธีสู่ขวัญข้าว สู่ขวัญควายสู่ขวัญเกวียน ทางอีสานมีพิธีแฮกนา หรือแรกนา เลี้ยงผีตาแฮก มีงานบุญบ้านเพื่อเลี้ยงผีหรือ  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน เป็นต้น
           ความสัมพันธ์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ ชาว  บ้านรู้ว่ามนุษย์เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของจักรวาล ซึ่งเต็มไปด้วยความเร้นลับ มีพลัง และอำนาจที่เขาไม่อาจจะหาคำอธิบายได้ ความ เร้นลับดังกล่าวรวมถึงญาติพี่น้องและผู้คนที่ล่วง  ลับไปแล้ว ชาวบ้านยังสัมพันธ์กับพวกเขา ทำบุญและรำลึกถึงอย่างสม่ำเสมอทุกวันหรือใน โอกาสสำคัญ ๆ นอกนั้นเป็นผีดีผีร้าย เทพเจ้า    ต่าง ๆ ตามความเชื่อของแต่ละแห่ง สิ่งเหล่านี้    สิงสถิตอยู่ในสิ่งต่าง ๆ ในโลก ในจักรวาลและ อยู่บนสรวงสวรรค์

พิธีบายศรีสู่ขวัญ

การทำมาหากิน

           แม้วิถีชีวิตของชาวบ้านเมื่อก่อนจะดูเรียบ ง่ายกว่าทุกวันนี้ และยังอาศัยธรรมชาติและแรง  งานเป็นหลักในการทำมาหากิน แต่พวกเขาก็  ต้องใช้สติปัญญาที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมาให้เพื่อ จะได้อยู่รอด ทั้งนี้เพราะปัญหาต่าง ๆ ในอดีตก็ยังมีไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อครอบครัวมีสมาชิก มากขึ้น จำเป็นต้องขยายที่ทำกิน ต้องหักร้างถางพง บุกเบิกพื้นที่ทำกินใหม่ การปรับพื้นที่ปั้นคันนาเพื่อทำนาซึ่งเป็นงานที่หนัก การทำไร่ทำนา ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์และดูแลรักษาให้เติบโต และได้ผล เป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถการจับปลาล่าสัตว์ก็มีวิธีการ บางคนมีความ  สามารถมาก รู้ว่าเวลาไหนที่ใดและวิธีใดจะ จับปลาได้ดีที่สุด คนที่ไม่เก่งก็ต้องใช้เวลานานและได้ปลาน้อย การล่าสัตว์ก็เช่นเดียวกัน
           การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ก็เป็น ความรู้ความสามารถที่มีมาแต่โบราณ คนทางภาคเหนือรู้จักบริหารน้ำเพื่อการเกษตรและเพื่อ การบริโภคต่าง ๆ โดยการจัดระบบเหมืองฝาย  มีการจัดแบ่งปันน้ำกันตามระบบประเพณีที่สืบทอดกันมา มีหัวหน้าที่ทุกคนยอมรับ มีคณะกรรมการจัดสรรน้ำตามสัดส่วนและตามพื้นที่ทำกิน  นับเป็นความรู้ที่ทำให้ชุมชนต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ ใกล้ลำน้ำ ไม่ว่าต้นน้ำหรือปลายน้ำ ได้รับการแบ่งปันน้ำอย่างยุติธรรม ทุกคนได้ประโยชน์และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
            ชาวบ้านรู้จักการแปรรูปผลิตผลในหลาย รูปแบบ การถนอมอาหารให้กินได้นาน การ ดอง การหมัก เช่น ปลาร้า น้ำปลา ผักดอง ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ปลาแห้ง เนื้อแห้ง การ แปรรูปข้าวก็ทำได้มากมายนับร้อยชนิด เช่น  ขนมต่าง ๆ แต่ละพิธีกรรมและแต่ละงานบุญ ประเพณี มีข้าวและขนมในรูปแบบไม่ซ้ำกัน ตั้งแต่ขนมจีน สังขยา ไปถึงขนมในงานสารท กาละแม ขนมครก และอื่น ๆ ซึ่งยังพอมีให้ เห็นอยู่จำนวนหนึ่ง ในปัจจุบันส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อขาย หรือเป็น อุตสาหกรรมในครัวเรือน
           ความรู้เรื่องการปรุงอาหารก็มีอยู่มากมาย  แต่ละท้องถิ่นมีรูปแบบและรสชาติแตกต่างกันไป มีมากมายนับร้อยนับพันชนิด แม้ในชีวิตประจำ วันจะมีเพียงไม่กี่อย่าง แต่โอกาสงานพิธี งาน  เลี้ยง งานฉลองสำคัญ จะมีการจัดเตรียมอาหาร
 อย่างดีและพิถีพิถัน
            การทำมาหากินในประเพณีเดิมนั้นเป็นทั้ง  ศาสตร์และศิลป์ การเตรียมอาหาร การจัดขนม และผลไม้ ไม่ได้เป็นเพียงเพื่อให้รับประทาน แล้วอร่อย แต่ให้ได้ความสวยงาม ทำให้  สามารถสัมผัสกับอาหารนั้นไม่เพียงแต่ทางปาก
 และรสชาติของลิ้น แต่ทางตาและทางใจ การเตรียมอาหารเป็นงานศิลปะที่ปรุงแต่ด้วยความตั้งใจ ใช้เวลา ฝีมือ และความรู้ความสามารถ
           ชาวบ้านสมัยก่อนส่วนใหญ่จะทำนาเป็นหลัก เพราะเมื่อมีข้าวแล้วก็สบายใจ อย่างอื่นพอหาได้ จากธรรมชาติ เสร็จหน้านาก็จะทำงานหัตถกรรม การทอผ้า ทำเสื่อ เลี้ยงไหม ทำเครื่องมือ  สำหรับจับสัตว์ เครื่องมือการเกษตร และ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น หรือเตรียมพื้นที่เพื่อ การทำนาครั้งต่อไป
          หัตถกรรมเป็นทรัพย์สินและมรดกทางภูมิ  ปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของบรรพบุรุษ  เพราะเป็นสื่อที่ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อและคุณค่าต่าง ๆ ที่สั่งสมมาแต่นมนาน ลายผ้าไหม ผ้าฝ้าย ฝีมือในการทออย่างประณีต  รูปแบบเครื่องมือที่สานด้วยไม้ไผ่ และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ เครื่องดนตรี เครื่องเล่น สิ่งเหล่านี้ได้ถูกบรรจงสร้างขึ้นมาเพื่อการใช้สอย การทำบุญหรือการอุทิศให้ใครคนหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อการค้าขาย
           ชาวบ้านทำมาหากินเพียงเพื่อการยังชีพ ไม่ได้ทำเพื่อขาย มีการนำผลิตผลส่วนหนึ่งไปแลก สิ่งของที่จำเป็นที่ตนเองไม่มี เช่น นำข้าวไปแลกเกลือ พริก ปลา ไก่ หรือเสื้อผ้า การ  ขายผลิตผลมีแต่เพียงส่วนน้อย และเมื่อมีความ จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อเสียภาษีให้รัฐ ชาวบ้านนำ  ผลิตผล เช่น ข้าว ไปขายในเมืองให้กับพ่อค้า หรือขายให้กับพ่อค้าท้องถิ่นเช่นทางภาคอีสานเรียกว่า "นายฮ้อย" คนเหล่านี้จะนำผลิตผลบาง  อย่าง เช่น ข้าว ปลาร้า วัว ควาย ไปขายในที่ไกล ๆ ทางภาคเหนือมีพ่อค้าวัวต่าง ๆ เป็นต้น
           แม้ว่าความรู้เรื่องการค้าขายของคนสมัย ก่อนไม่อาจจะนำมาใช้ในระบบตลาดเช่นปัจจุบันได้ เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่การค้าที่มีจริยธรรมของพ่อค้าในอดีต ที่ไม่ ได้หวังแต่เพียงกำไร แต่คำนึงถึงการช่วยเหลือ
 แบ่งปันกันเป็นหลัก ยังมีคุณค่าสำหรับปัจจุบัน  นอกนั้น ในหลายพื้นที่ในชนบท ระบบการแลก เปลี่ยนสิ่งของยังมีอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ยากจน ซึ่งชาวบ้านไม่มีเงินสด แต่มีผลิตผลต่าง ๆ ระบบการแลกเปลี่ยนไม่ได้ยึดหลักมาตราชั่งวัด  หรือการตีราคาของสิ่งของ แต่แลกเปลี่ยนโดยโดยการคำนึงถึงสถานการณ์ของผู้แลกทั้งสองฝ่ายคนที่เอาปลาหรือไก่มาขอแลกข้าว อาจจะได้ ข้าวเป็นถังเพราะเจ้าของข้าวคำนึงถึงความจำเป็น ของครอบครัวเจ้าของไก่ ถ้าหากตีราคาเป็นเงิน  ข้าวหนึ่งถังย่อมมีค่าสูงกว่าไก่หนึ่งตัว


การเกษตรแบบผสมผสานอีกรูปแบบหนึ่ง

การอยู่ร่วมกันในสังคม
          การอยู่ร่วมกันในชุมชนดั้งเดิมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องไม่กี่ตระกูล ซึ่งได้อพยพ  ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ หรือสืบทอดบรรพบุรุษจนนับญาติกันได้ทั้งชุมชน มีคนเฒ่าคนแก่ที่ชาวบ้าน  เคารพนับถือเป็นผู้นำ หน้าที่ของผู้นำไม่ใช่การ สั่ง แต่เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา มีความแม่นยำในกฏระเบียบประเพณีการดำเนินชีวิต ตัดสินไกล่เกลี่ยหากเกิดความขัดแย้ง ช่วยกันแก้ไข  ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น"ผิดผี" คือ ผีของบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้สร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้ เช่น กรณีที่ชายหนุ่มถูกเนื้อ ต้องตัวหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน เป็นต้น หากเกิด การผิดผีขึ้นมา ก็ต้องมีพิธีกรรมขอขมา โดยมี คนเฒ่าคนแก่เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ มีการ ว่ากล่าวสั่งสอนและชดเชยการทำผิดนั้นตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้
          ชาวบ้านอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยามเกิดอุบัติเหตุเภทภัย ยามที่โจร ขโมยวัวควายข้าวของ การช่วยเหลือกันทำงาน  ที่เรียกกันว่า การลงแขก ทั้งแรงกายแรงใจ  ที่มีอยู่ก็จะแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน การ แลกเปลี่ยนสิ่งของ อาหารการกิน และอื่น ๆ  จึงเกี่ยวข้องกับวิถีของชุมชน ชาวบ้านช่วยกัน  เก็บเกี่ยวข้าว สร้างบ้าน หรืองานอื่นที่ต้องการ คนมาก ๆ เพื่อจะได้เสร็จโดยเร็ว ไม่มีการจ้าง
       กรณีตัวอย่างจากการปลูกข้าวของชาวบ้านถ้าปีหนึ่งชาวนาปลูกข้าวได้ผลดี ผลิตผลที่ได้จะ ใช้เพื่อการบริโภคในครอบครัว ทำบุญที่วัด เผื่อแผ่ให้พี่น้องที่ขาดแคลน แลกของ และเก็บ  ไว้เผื่อว่าปีหน้าฝนอาจแล้ง น้ำอาจท่วม ผลิตผลอาจไม่ดี
          ในชุมชนต่าง ๆ จะมีผู้มีความรู้ความสามารถหลากหลาย บางคนเก่งทางการรักษาโรค  บางคนทางการเพาะปลูกพืช บางคนทางการเลี้ยง  สัตว์ บางคนทางด้านดนตรีการละเล่น บางคน  เก่งทางด้านพิธีกรรม คนเหล่านี้ต่างก็ใช้ความ
 สามารถเพื่อประโยชน์ของชุมชน โดยไม่ถือเป็น  อาชีพที่มีค่าตอบแทน อย่างมากก็มี "ค่าครู"แต่เพียงเล็กน้อย ซึ่งปกติแล้ว เงินจำนวนนั้น ก็ใช้สำหรับเครื่องมือประกอบพิธีกรรม หรือ เพื่อทำบุญที่วัดมากกว่าที่หมอยาหรือบุคคลผู้นั้น
จะเก็บไว้ใช้เอง เพราะแท้ที่จริงแล้ว "วิชา" ที่ ครูถ่ายทอดมาให้แก่ลูกศิษย์จะต้องนำไปใช้เพื่อ  ประโยชน์แก่สังคม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วน ตัว การตอบแทนจึงไม่ใช่เงินหรือสิ่งของเสมอไป แต่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยวิธีการต่าง ๆ   
           ด้วยวิถีชีวิตเช่นนี้ จึงมีคำถามเพื่อเป็นการ สอนคนรุ่นหลังว่า ถ้าหากคนหนึ่งจับปลาช่อน  ตัวใหญ่ได้หนึ่งตัว ทำอย่างไรจึงจะกินได้ทั้งปี คนสมัยนี้อาจจะบอกว่า ทำปลาเค็ม ปลาร้า  หรือ เก็บรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่คำตอบที่ถูกต้อง คือ แบ่งปันให้พี่น้องเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อ เขาได้ปลา เขาก็จะทำกับเราเช่นเดียวกัน
          ชีวิตทางสังคมของหมู่บ้านมีศูนย์กลางอยู่ที่วัด กิจกรรมของส่วนรวมจะทำกันที่วัด งานบุญประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนการละเล่นมหรสพ พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจ เป็นครูที่สอนลูก หลานผู้ชายซึ่งไปรับใช้พระสงฆ์ หรือ "บวชเรียน"
  ทั้งนี้เพราะก่อนนี้ยังไม่มีโรงเรียน วัดจึงเป็นทั้งโรงเรียนและหอประชุมเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ต่อเมื่อโรงเรียนมีขึ้นและแยกออกจากวัด บทบาท ของวัดและของพระสงฆ์จึงเปลี่ยนไป
          งานบุญประเพณีในชุมชนแต่ก่อนมีอยู่ทุก เดือน ต่อมาก็ลดลงไปหรือสองสามหมู่บ้านร่วมกันจัด หรือผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน เช่น  งานเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นงานใหญ่ หมู่บ้าน  เล็ก ๆ ไม่อาจจะจัดได้ทุกปี งานเหล่านี้มีทั้งความเชื่อ พิธีกรรมและความสนุกสนาน ซึ่งชุมชน แสดงออกร่วมกัน



 


การลงแขกทำนา

ระบบคุณค่า

           ความเชื่อในกฎเกณฑ์ประเพณีเป็นระเบียบ ทางสังคมของชุมชนดั้งเดิม ความเชื่อนี้เป็นราก ฐานของระบบคุณค่าต่าง ๆ ความกตัญญูรู้คุณต่อพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ความเมตตาเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติรอบตัว และในสากลจักรวาล
           ความเชื่อ "ผี" หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน ธรรมชาติเป็นที่มาของการดำเนินชีวิตทั้งของส่วน  บุคคลและของชุมชนโดยรวม การเคารพในผีปู่ตา หรือผีปู่ย่า ซึ่งเป็นผีประจำหมู่บ้าน ทำให้ชาว บ้านมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นลูกหลานของ ปู่ตาคนเดียวกัน รักษาป่าที่มีบ้านเล็ก ๆ สำหรับผี ปลูกอยู่ติดหมู่บ้าน ผีป่าทำให้คนตัดไม้ด้วยความเคารพ ขออนุญาต เลือกตัดต้นแก่และ  ปลูกทดแทน ไม่ทิ้งสิ่งสกปรกลงแม่น้ำด้วย ความเคารพในแม่คงคา กินข้าวด้วยความเคารพในแม่โพสพ คนโบราณกินข้าวเสร็จจะไหว้ข้าว
           พิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีรื้อฟื้น กระชับ หรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน คนจะเดินทางไกล หรือกลับจากการเดินทาง สมาชิกใหม่ ในชุมชน คนป่วยหรือกำลังฟื้นไข้ คนเหล่านี้จะได้รับพิธีสู่ขวัญ เพื่อให้เป็นสิริมงคล มีความอยู่เย็นเป็นสุข นอกนั้นยังมีพิธีสืบชะตาชีวิตของ บุคคลหรือของชุมชน
           นอกจากพิธีกรรมกับคนแล้ว ยังมีพิธีกรรมกับสัตว์และธรรมชาติ มีพิธีสู่ขวัญข้าว สู่ขวัญ ควาย สู่ขวัญเกวียน เป็นการแสดงออกถึงการขอบคุณ การขอขมา พิธีดังกล่าวไม่ได้มีความหมายถึงว่าสิ่งเหล่านี้มีจิตมีผีในตัวมันเอง แต่เป็น
          การแสดงออกถึงความสัมพันธ์กับจิตและสิ่งศักดิ์ สิทธิ์อันเป็นสากล ในธรรมชาติทั้งหมด ทำให้  ผู้คนมีความสัมพันธ์อันดีกับทุกสิ่ง คนขับแท็กซี่ ในกรุงเทพฯ ที่มาจากหมู่บ้าน ยังซื้อดอกไม้แล้ว แขวนไว้ที่กระจกในรถ ไม่ใช่เพื่อเซ่นไหว้ผีในรถแท็กซี่ แต่เป็นการรำลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน สากลจักรวาล รวมถึงที่สิงอยู่ในรถคันนั้น
            ผู้คนสมัยก่อนมีความสำนึกในข้อจำกัดของตนเอง รู้ว่ามนุษย์มีความอ่อนแอและเปราะบาง หากไม่รักษาความสัมพันธ์อันดีและไม่คงความ สมดุลกับธรรมชาติรอบตัวไว้ เขาคงไม่สามารถ มีชีวิตได้อย่างเป็นสุขและยืนนาน ผู้คนทั่วไปจึง
ไม่มีความอวดกล้าในความสามารถของตน ไม่ ท้าทายธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และรักษากฎระเบียบประเพณีอย่างเคร่งครัด 


ศาลพระภูมิเสาเดียว

ฮีตสิบสอง
          ชีวิตของชาวบ้านในรอบหนึ่งปีจึงมีพิธีกรรมทุกเดือน เพื่อแสดงออกถึงความเชื่อและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม ระหว่างคนกับ ธรรมชาติ และระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆดังกรณีงานบุญประเพณีของชาวอีสานที่เรียกว่าฮีตสิบสอง คือ
           เดือนอ้าย (เดือนที่หนึ่ง) บุญเข้ากรรม ให้  พระภิกษุเข้าปริวาสกรรม
            เดือนยี่ (เดือนที่สอง) บุญคูณลาน ให้นำ  ข้าวมากองกันที่ลาน ทำพิธีก่อนนวด
            เดือนสาม บุญข้าวจี่ ให้ถวายข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปั้นชุบไข่ทาเกลือนำไปย่างไฟ)
            เดือนสี่ บุญพระเวส ให้ฟังเทศน์มหาชาติ คือ เทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก
            เดือนห้า บุญสรงน้ำ หรือบุญสงกรานต์ให้สรงน้ำพระ ผู้เฒ่าผู้แก่
            เดือนหก บุญบั้งไฟ บูชาพญาแถน ตามความเชื่อเดิม และบุญวิสาขบูชา ตามความเชื่อ ของชาวพุทธ
            เดือนเจ็ด บุญซำฮะ (บุญชำระ) ให้บน บานพระภูมิเจ้าที่ เลี้ยงผีปู่ตา
            เดือนแปด บุญเข้าพรรษา
            เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน ทำบุญอุทิศ ส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
            เดือนสิบ บุญข้าวสาก ทำบุญเช่นเดือนเก้า รวมให้ผีไม่มีญาติ (ภาคใต้มีพิธีคล้ายกัน คืองานพิธีเดือนสิบ ทำบุญให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วง ลับไปแล้ว แบ่งข้าวปลาอาหารส่วนหนึ่งให้แก่ผีไม่มีญาติ พวกเด็ก ๆ ชอบแย่งกันเอาของที่แบ่งให้ผีไม่มีญาติหรือเปรต เรียกว่า "การชิงเปรต")  เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา
            เดือนสิบสอง บุญกฐิน จัดงานกฐินและ ลอยกระทง


ภูมิปัญญาชาวบ้านในสังคมปัจจุบัน
          ภูมิปัญญาชาวบ้านได้ก่อเกิดและสืบทอด กันมาในชุมชนหมู่บ้าน เมื่อหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับสังคมสมัยใหม่ ภูมิปัญญาชาวบ้านก็มีการปรับตัวเช่นเดียวกัน
          ความรู้จำนวนมากได้สูญหายไปเพราะไม่มีการปฏิบัติสืบทอด เช่น การรักษาพื้นบ้านบาง อย่าง การใช้ยาสมุนไพรบางชนิด เพราะ หมอยาที่เก่ง ๆ ได้เสียชีวิตโดยไม่ได้ถ่ายทอดให้ กับคนอื่น หรือถ่ายทอดแต่คนต่อมาไม่ได้ปฏิบัติ เพราะชาวบ้านไม่นิยมเหมือนเมื่อก่อน ใช้ยา  สมัยใหม่และไปหาหมอที่โรงพยาบาลหรือคลินิก  ง่ายกว่า งานหัตถกรรมทอผ้าหรือเครื่องเงินเครื่องเขิน แม้จะยังเหลืออยู่ไม่น้อย แต่ก็ได้ถูก พัฒนาไปเป็นการค้า ไม่สามารถรักษาคุณภาพ และฝีมือแบบดั้งเดิมไว้ได้ ในการทำมาหากิน  มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัย ใช้รถไถแทนควาย รถอีแต๋นแทนเกวียน
          การลงแขกทำนาและปลูกสร้างบ้านเรือนก็ เกือบจะหมดไป มีการจ้างงานกันมากขึ้น แรงงานก็หายากกว่าแต่ก่อน ผู้คนอพยพย้ายถิ่น บ้างก็ เข้าเมือง บ้างก็ไปทำงานที่อื่น ประเพณีงานบุญ  ก็เหลือไม่มาก ทำได้ก็ต่อเมื่อลูกหลานที่จากบ้านไปทำงานกลับมาเยี่ยมบ้านในเทศกาลสำคัญ ๆ เช่น  ปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษา เป็นต้น
          สังคมสมัยใหม่มีระบบการศึกษาในโรงเรียน  มีอนามัยและโรงพยาบาล มีโรงหนัง วิทยุโทรทัศน์ และเครื่องบันเทิงต่าง ๆ ทำให้ชีวิต ทางสังคมของชุมชนหมู่บ้านเปลี่ยนไป มีตำรวจ มีโรงมีศาล มีเจ้าหน้าที่ราชการฝ่ายปกครอง ฝ่ายพัฒนา และอื่น ๆ เข้าไปในหมู่บ้าน บทบาทของวัด พระสงฆ์ และคนเฒ่าคนแก่เริ่มลดน้อย  ลงไป
          การทำมาหากินก็เปลี่ยนจากการทำเพื่อ  ยังชีพไปเป็นการผลิตเพื่อการขาย ผู้คนต้องการเงินเพื่อซื้อเครื่องบริโภคต่าง ๆ ทำให้สิ่งแวดล้อม เปลี่ยนไป ผลิตผลจากป่าก็หมด สถานการณ์ เช่นนี้ทำให้ผู้นำการพัฒนาชุมชนหลายคนที่มี
 บทบาทสำคัญในระดับจังหวัด ระดับภาค และ ระดับประเทศ เริ่มเห็นความสำคัญของภูมิปัญญา ชาวบ้าน หน่วยงานทางภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุน และส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ประยุกต์ และค้นคิดสิ่งใหม่ ความรู้
ใหม่เพื่อประโยชน์สุขของสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น