วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

บทที่ 7 พิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธิน


                                                       พิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธิน

               ใกล้กันกับอนุสาวรีย์ทหารนาวิกโยธิน  โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์แบบพิเศษซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมสงวนรักษาและจัดแสดงวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกิจการของทหารนาวิกโยธิน  เพื่อใช้ประกอบการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และการพัฒนาการของทหารนาวิกโยธิน  ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการศึกษาพิจารณายุทธศาสตร์  ยุทธวิธีและหลักนิยมในการรบของทหารนาวิกโยธิน  เพื่อให้ทหารนาวิกโยธินข้าราชการทั่วไป  ตลอดจนประชาชนที่สนใจได้เข้าชมเพื่อการศึกษาและได้รับความเพลิดเพลินในโอกาสเดียวกัน          ความจริงกิจกรรมทางด้านพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธินนั้นอยู่ในความคิดชอบของทหารนาวิกโยธินมาช้านานแล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการได้  เนื่องจากติดขัดในเรื่องของงบประมาณและสถานที่  จนกระทั่งกองทัพเรือได้ประกาศเจตนารมณ์ด้านการประวัติศาสตร์กองทัพเรือเพื่อส่งเสริมภารกิจของกองทัพเรือ  รวมทั้งได้วางกรอบและโครงการในระยะยาวในการพัฒนากิจการด้านประวัติศาสตร์ไปในทางที่ถูกต้อง  และด้วยงบประมาณที่เหมาะสม  โดยกำหนดแนวทางในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่องของหน่วยขึ้นเพื่อสนองตอบเจตนารมณ์และนโยบายเฉพาะงานด้านประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือ  หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประวัติศาสตร์หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินที่ ๖๘/๒๕๓๘ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๘ โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ดำเนินการด้านประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธินและได้ขออนุมัติใช้อาคารสโมสรสัญญาบัตรเตยงาม  ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ที่มีอายุกว่า ๖๐ ปี ที่ตั้งอยู่ชายทะเล มีภูมิสถาปัตย์ที่เหมาะสมและบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธิน  โดยหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินเป็นผู้หางบประมาณมาดำเนินการโดยไม่ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากทางราชการแต่อย่างใด


          เมื่อได้รับอนุมัติให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ เมื่อปลายปี ๒๕๓๙ ต้นปี ๒๕๔๐ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินได้อนุมัติเงินยอดจำหน่ายวัตถุมงคลจำนวน ๑ ล้านบาทเศษ เพื่อปรับปรุงสถานที่ และได้แต่งตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธินขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องราวและวัตถุพิพิธภัณฑ์ เพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์โดยคณะทำงานได้ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประวัติศาสตร์หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน  ซึ่งการดำเนินกาดังกล่าวได้เป็นไปอย่างล่าช้า  เนื่องจากขาดงบประมาณ  ดังนั้นหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินจึงได้ตั้งกองทุนพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธินขึ้น  ซึ่งกองทุนนี้ในขั้นต้นได้มาจากข้าราชการ  นักเรียนจ่า  พลทหาร  และลูกจ้าง  สังกัดหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน  ร่วมกันบริจาคตั้งเป็นกอทุนขึ้น  ต่อมาทหารเรือนอกราชการ  รวมทั้งพ่อค้า  ประชาชน  ที่เห็นความสำคัญด้านประวัติศาสตร์  และพิพิธภัณฑ์ได้ร่วมบริจาคเงินสมทบอีกจำนวนหนึ่ง
          คณะกรรมการประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์  และคณะทำงานประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ ได้ใช้กองทุนนี้ดำเนินการตกแต่งและจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เรียบร้อยแล้วส่วนหนึ่ง  สำหรับส่วนที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อย  หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินจะได้ดำเนินการจัดหาทุนต่อไป  ในส่วนที่เสร็จเรียบร้อยแล้วพอที่จะเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินจึงได้เรียนเชิญ พล.ร.อ.ธีระ  ห้าวเจริญ  ผู้บัญชาการทหารเรือ  มาเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธิน เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสถาปนาหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

          
         รูปแบบของพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธินเป็นการจัดวางและตั้งแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ยานพาหนะ  เครื่องแบบของทหารนาวิกโยธิน  รวมทั้งยุทธภูมิจำลองต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทหารนาวิกโยธิน  เพื่อแสดงถึงวิวัฒนาการของทหารนาวิกโยธิน  กองทัพเรือ  การรักษาอธิปไตยของประเทศนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  นอกจากนั้นยังมีการแสดงภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับทหารนาวิกโยธิน  โดยแบ่งการจัดออกเป็น ๒ พื้นที่ด้วยกันคือ ภายในอาคาร  ภายนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธิน
          โดยภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธินมีห้องสำหรับการจัดแสดงนิทรรศการจำนวน ๕ ห้องด้วยกัน
          ห้องแรกคือห้องบรรยายสรุป  เป็นห้องที่ใช้สำหรับบรรยายสรุปถึงประวัติความเป็นมาตลอดจนวิวัฒนาการของทหารนาวิกโยธินตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  โดยจัดแสดงทางวีดิทัศน์และภาพถ่ายขนาดใหญ่แสดงถึงความเป็นมาของทหารนาวิกโยธินตั้งแต่ยุคเริ่มต้น  ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและยุคใหม่หรือยุคปัจจุบัน  บริเวณกึ่งกลางห้องจะเห็นสัญลักษณ์ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน  ตั้งอยู่บนฐาน ๘ เหลี่ยม  ทำด้วยโลหะสีทองเป็นรูป ๓ มิติ  มีลักษณะเป็นลูกโลกแผนที่ประเทศ  สมอเรือ  และมีพญาครุฑอยู่ด้านบน  สวยงามมาก  นอกจากนั้นรอบ ๆ ห้องยังประดับด้วยทิวธง  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หน่วยนาวิกโยธินต่าง ๆ รวมทั้งรูปอดีตผู้บัญชาการนาวิกโยธิน


           ห้องที่สองคือห้องพระบารมีปกเกล้า  จัดแสดงรูปภาพทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทหารนาวิกโยธินภายในห้องจะติดตั้งพระบรมสาทิศลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขนาดใหญ่  ทรงฉลองพระองค์ชุดสนามทหารนาวิกโยธินสีกากีแกมเขียวเป็นครั้งแรก  ทรงนำธง  "ราชนาวิกโยธิน"  ปักไว้เหนือก้อนหินใหญ่  บริเวณอนุสรณ์สถานกลางหาดเตยงาม  โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์  มาร์ชราชนาวิกโยธิน  จัดแสดงไว้ในตู้กระจกกลางห้อง  บริเวณรอบ ๆ ห้องติดตั้งรูปภาพพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของทุกพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับทหารนาวิกโยธิน
 ห้องต่อมาคือห้องเครื่องแบบทหารนาวิกโยธิน  เป็นห้องแสดงการแต่งกายเครื่องแบบทหารนาวิกโยธิน  โดยใช้หุ่นแต่งเครื่องแบบชุดต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นชุดฝีพายเรือพระที่สั่ง  ชุดสงครามอินโดจีน  ชุดปราบฮ่อ  ชุดทหารรักษาพระองค์  นอกจากนั้นยังได้จัดตู้แสดงเครื่องหมายยศของทหารเรือ  เครื่องหมายความสามารถ  และเครื่องราชอิสริยาภรณ์
          ห้องที่สี่คือห้องอาวุธยุทโธปกรณ์  ได้รวบรวมอาวุธประจำกายและอาวุธประจำหน่วยที่มีขนาดเล็ก  รวมทั้งเครื่องมือสื่อสารตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันที่ปลดจากประจำการแล้ว  อาทิ  ปืนมาตินี่  เฮนรี่  ปืนมันลิเคอร์  ปืนเมาเซอร์  ปืนรัชกาล  เป็นต้น


          ห้องสุดท้ายคือห้องยุทธภูมิ  ซึ่งจัดแสดงยุทธการต่าง ๆ ที่ทหารนาวิกโยธินจัดกำลังเข้าปฏิบัติการทั้งภาคเหนือ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคใต้  และภาคตะวันออก  ได้แก่  ยุทธการสามชัย  ยุทธการผาภูมิ  ยุทธการกรุงชิง  ยุทธการบ้านชำราก  ยุทธการบ้านหาดเล็ก  ยุทธการกองพลจันทบุรี  ยุทธการปราบฮ่อ  โดยได้จัดทำตู้แสดงซึ่งจะจัดฉากภาพการรบของยุทธการต่าง ๆ เป็นลักษณะ ๓ มิติ  รวมทั้งตู้แสดงการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก  การฝึกการยุทธข้ามลำน้ำ

          ส่วนภายนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ทหารนาวิกโยธินเป็นการจัดแสดงอาวุธโบราณสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ อาวุธในช่วงสงครามอินโดจีน  สงครามมหาเอเชียบูรพา  และอาวุธในยุคปัจจุบันที่เลิกใช้แล้ว  นอกจากนั้นยังจัดแสดงยานสะเทินน้ำสะเทินบก (นย.๑๐๒)  ที่เคยใช้ในการแสดงการยกพลขึ้นบกของทหารนาวิกโยธิน   ณ   หาดบางแสน  จังหวัดชลบุรี  เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน  ๒๔๙๗  ซึ่งเป็นวันกองทัพเรือ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือหลวงแม่กลอง  เพื่อทอดพระเนตรการยกพลขึ้นบกครั้งนี้ด้วย  นอกจากนั้นยังได้จัดแสดงยานยนต์ขนาด ๑/๔ ตัน (นย.๑๐๐)  ที่เคยเป็นรถพระที่นั่งทอดพระเจตรการฝึกยกพลที่หาดบ้านทอน  จังหวัดนราธิวาส  (ทักษิณ ๑๒)  ยานยนต์ขนาด ๑/๔ ตัน  ที่เคยเป็นรถประจำตำแหน่งของอดีตผู้บัญชาการนาวิกโยธิน  ยานยนต์ขนาด ๑ ตัน สำหรับลากปืน  ปบค. ๗๕ มม.  และบานยนต์ขนาด ๒๑/๒ ตัน  ที่เคยใช้สำหรับชุดปฏิบัติการพิเศษที่ ๖๑



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น